ร่างกายของเรามีระบบการใช้พลังงานอย่างไร

ร่างกายของคนเราเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ เครื่องยนต์จะใช้พลังงานจากน้ำมันและใช้ได้เพียงชนิดเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเลือกใช้พลังงานอื่นด้วยตนเองได้ แต่ร่างกายของเราถือว่ามหัศจรรย์กว่านั้น คือร่างกายมนุษย์สามารถเลือกใช้พลังงานจากแหล่งต่างๆ ในร่างกายให้เหมาะสมกับความหนัก- เบาของงานได้ เราลองมาดูกันว่าร่างกายของเรามีระบบในการใช้พลังงานของแต่ละช่วงการออกกำลังกายอย่างไร

body-energy-3.jpg

1. ระบบฟอสฟาเจน (Phosphagen System)

ระบบนี้จะเป็นระบบที่ดึงเอาพลังงานที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อ (APT หรือ Adenosine Triphosphate) มาใช้ เป็นพลังงานที่ใช้ได้ทันที ทำให้พลังงานชนิดนี้สามารถได้มาอย่างรวดเร็ว แต่ก็หมดไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน เป็นพลังงานที่มีสะสมอยู่เพียงเล็กน้อย และร่างกายสามารถนำมาใช้ได้ในช่วงเวลา 1-15 วินาทีแรก ของการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ เท่านั้น

body-energy-1.jpg

2. ระบบแอนแอโรบิค (Anaerobic System)

ระบบนี้เป็นระบบที่ดึงเอาพลังงานจากการสลายไกลโคเจนที่เป็นแหล่งสะสมพลังงานในร่างกาย เพื่อให้ได้พลังงานออกมา ซึ่งจะทำให้ได้พลังงานที่สูงและรวดเร็ว แต่การได้มาของพลังงานในระบบนี้ไม่ได้เกิดจากการใช้ออกซิเจนในการสันดาปหรือการเผาไหม้ จึงทำให้สารตั้งต้นของการสร้างพลังงาน อะซิทิล โคเอนไซม์ เอ (Acetyl Coenzyme A) ที่ไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ จะเปลี่ยนเป็นกรดแลคติค (Lactic Acid) สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดความเมื่อยล้าขึ้นเรื่อยๆ ในขณะออกกำลังกาย หากไม่หยุดออกกำลังกายหรือไม่ผ่อนความหนักลง อาจทำให้เป็นตะคริวได้ ร่างกายจะนำพลังงานระบบนี้มาใช้ในช่วง 20 วินาที - 2 นาทีแรกของการออกกำลังกายเท่านั้น

body-energy-2.jpg

3. ระบบแอโรบิค (Aerobic System)

ระบบนี้ร่างกายจะใช้ออกซิเจนในการสันดาปหรือเผาไหม้เพื่อให้ได้พลังงานออกมา โดยจะใช้การเผาผลาญไขมันที่สะสมในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ถือเป็นการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ต่างจากระบบแอนแอโรบิค (Anaerobic) พลังงานในระบบนี้มีอยู่มหาศาลและสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ร่างกายสามารถออกกำลังกายได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกหมดแรงหรือเหนื่อยล้า โดยร่างกายจะมีการใช้พลังงานจากระบบนี้ตั้งแต่นาทีที่ 2 เป็นต้นไปหลังจากเริ่มออกกำลังกาย และจะใช้พลังงานในส่วนนี้อย่างเต็มที่หลังจากออกกำลังกายไปได้ 20 นาที ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักจึงควรออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องให้นานมากกว่า 20 นาทีขึ้นไป เพื่อช่วยเผาผลาญไขมัน แต่การออกกำลังกายยาวนานติดต่อกันอย่างต่อเนื่องมากกว่า 60 นาที จะเป็นสาเหตุของการสูญเสียกล้ามเนื้อได้เช่นกัน เพราะร่างกายมีปริมาณไขมันขั้นต่ำที่เก็บสะสมไว้เพื่อการดำรงชีพ การออกกำลังกายแต่ละครั้งจึงไม่ควรนานเกิน 60 นาที

นอกจากระบบต่างๆ แล้ว ลักษณะของการออกกำลังกายก็มีผลต่อการใช้พลังงานเช่นกัน เช่น ถ้าเราวิ่ง 5 นาทีแล้วหยุดพัก หากกลับมาวิ่งอีกรอบก็จะเป็นการกลับไปใช้พลังงานจากระบบที่ 1 ใหม่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระบบพลังงานต่างๆ ของร่างกายจะมีการเลือกใช้ในแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน หากเราทำความเข้าใจและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับกิจกรรมการออกกำลังกายของเรา ก็จะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

shop now