ใบบัวบก เป็นสมุนไพรที่มีวิตามินเอสูง ช่วยในเรื่องการทำงานของสมอง ช่วยลดความเครียดจากการทำงานหนัก บำรุงหลอดเลือดให้แข็งแรง และมีสารช่วยต้านการอักเสบได้

ใบบัวบก คืออะไร?

ใบบัวบก คือพืชสมุนไพรล้มลุกขนาดเล็ก ที่มีต้นกำเนิดอยู่แถบเอเชีย รวมไปถึงในประเทศไทยด้วย มีลักษณะเป็นใบสีเขียว ก้านเล็ก ใบมีสีเขียวพร้อมรอยหยักรอบๆ ผิวด้านบนของใบจะเรียบเนียน เมื่อรับประทานจะให้รสขมหวาน และมีกลิ่นฉุน1 ในประเทศไทย ใบบัวบกเป็นที่รู้จักด้วยสรรพคุณทางยาที่โดดเด่นคือการแก้ช้ำใน แต่ประโยชน์ของใบบัวบกยังไม่หมดแค่นี้ เพราะในใบบัวบกมีสารอาหารสำคัญ พร้อมด้วยวิตามินมากมายอีกด้วย

ในใบบัวบกยังประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์และสรรพคุณอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ใบบัวบกกลายมาเป็นสมุนไพรยอดนิยม เช่น บราโมซัยด์ บรามิโนซัยด์ ไตรเตอพีนอยด์ มาดิแคสโซซัยด์ และกรดอะมิโนอื่นๆ อีกด้วย1

8 ประโยชน์ของใบบัวบก ที่ไม่ควรมองข้าม

หลายๆ คนคงเคยได้ยินมาจนคุ้นหูว่าใบบัวบกนั้นช่วยรักษาอาการช้ำในได้ แต่ความจริงแล้วประโยชน์ของใบบัวบกมีมากกว่านั้นมาก หากกินใบบัวบกทุกวันในปริมาณ 500-750 มิลลิกรัมต่อวัน3 จะได้รับประโยชน์ต่างๆ มากมาย ทั้งบำรุงสมอง ลดความดันเลือด ลดเครียด ด้วยสรรพคุณดังต่อไปนี้

1. ใบบัวบกช่วยบำรุงสมอง

สรรพคุณของใบบัวบกที่สำคัญอย่างหนึ่งเลยคือ การช่วยบำรุงสมอง มีการวิจัยพบว่าการกินใบบัวบกในปริมาณ 200-300 มิลลิกรัมทุกวันเป็นเวลา 21 วัน มีส่วนช่วยบำรุงระบบประสาท และความทรงจำดีขึ้น นอกจากนี้ ใบบัวบกยังให้สารเอเชียติโคไซด์ (Asiaticoside) เอเชียติคแอซิด (Asiatic Acid) และบลามิโนไซด์ (Brahminoside) ช่วยลดความเครียดจากปฏิกริยาออกซิเดชัน ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย4

อาหารบำรุงสมอง
เสริมความจำ

2. ใบบัวบกช่วยแก้ปัญหาเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดเกิดจากการสูญเสียความยืดหยุ่นของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเกิดการฉีกขาด จึงส่งผลให้เลือดไหลออกมากองอยู่บริเวณนั้น โดยพบมากที่บริเวณขา การกินใบบัวบกทุกวัน จะทำให้ร่างกายได้รับสารไตรเทอร์ปีนอยด์ไกลโคไซด์ (Triterpenoid Glycoside) และมาดิคาไซด์ (Madecasside) ที่มีประโยชน์ช่วยบำรุงหลอดเลือดให้แข็งแรง ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เลือดที่อยู่บริเวณเส้นเลือดขอดจึงไหลเวียนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ใบบัวบกยังมีสารกระตุ้นคอลลาเจนและอีลาสติน ที่มีส่วนช่วยให้เนื้อเยื่อผนังหลอดเลือดดำแข็งแรงขึ้น ไม่ฉีกขาดจนทำให้เกิดเส้นเลือดขอดในอนาคต5

3. ใบบัวบกช่วยลดความดันโลหิต

ประโยชน์ของใบบัวบกที่มีต่อผู้ป่วยความดันโลหิต คือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยลดความดันโลหิตได้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยที่ดื่มชาใบบัวบก หรือกินอาหารเสริมใบบัวบกทุกวัน มีความดันโลหิตปกติอย่างยาวนานกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้กินใบบัวบก4

4. ใบบัวบกช่วยลดความเครียดได้

สำหรับใครที่กำลังมีความเครียดสะสมหรือมีความวิตกกังวล การกินใบบัวบกทุกวัน มีสรรพคุณช่วยลดความเครียดและต้านอาการวิตกกังวลได้ นอกจากนี้งานวิจัยยังพบอีกด้วยว่าอีกหนึ่งประโยชน์ของใบบัวบก คือช่วยลดความวิตกกังวลแบบเฉียบพลันได้อีกด้วย6

5. ใบบัวบกช่วยระบายความร้อน

ใบบัวบกเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ใครที่มีความรู้สึกร้อนรุ่ม หรือกำลังเป็นโรคที่เกี่ยวกับความร้อนในร่างกาย เช่น ดีซ่านหรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หากกินใบบัวบกติดต่อกันทุกวัน จะมีสรรพคุณช่วยขับความชื้น และไล่ความร้อนจากร่างกายออกไปได้

6. ใบบัวบกช่วยสมานแผล และรักษาโรคผิวหนัง

ประโยชน์ของใบบัวบกอีกอย่างคือการกระตุ้นคอลลาเจน ซึ่งการกระตุ้นคอลลาเจนนี้เองที่มีส่วนช่วยให้การสมานแผลเป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมด้วยป้องกันโอกาสที่จะเกิดแผลเป็นในภายหลัง

7. ใบบัวบกลดอาการบวม

ในใบบัวบก มีสารกลุ่มเดียวกับยา phlebotonics ที่ใช้ในผู้ป่วยที่เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี จนทำให้เกิดอาการคั่งของเลือด และทำให้มีอาการบวมในที่สุด ดังนั้นการกินใบบัวบก ไม่ว่าจะเป็นการกินประกอบอาหาร ดื่มน้ำใบบัวบก หรือกินอาหารเสริมใบบัวบกทุกวัน จึงมีสรรพคุณช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับลดอาการบวมที่เกิดอีกด้วย7

8. ใบบัวบกต้านลมชัก

อีกหนึ่งประโยชน์ของใบบัวบก หากกินใบบัวบกติดต่อกันทุกวัน ช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า GABA โดยเป็นสารที่มีส่วนช่วยต้านลมชักได้ ในผู้ป่วยโรคลมชัก หรือมีอาการลมชักอยู่บ่อยๆ จึงควรกินใบบัวบก เพื่อช่วยป้องกันอาหารเหล่านี้6

ใบบัวบก กับ สกินแคร์

นอกจากใบบัวบกจะมีสรรพคุณต่างๆ มากมายที่ดีต่อร่างกายแล้ว ครีมบำรุงผิวหรือสกินแคร์ยังนิยมใช้ใบบัวบก หรือสารสกัดที่ได้จากใบบัวบก เข้ามาเป็นส่วนผสมหลัก เนื่องจากในใบบัวบกมีสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย มีส่วนช่วยในเรื่องของความชุ่มชื้นและลดเลือนริ้วรอย จึงทำให้ใบบัวบกกลายมาเป็นส่วนผสมหลักของสกินแคร์ที่เหมาะกับผิวแห้ง แพ้ง่าย ในชื่อที่นิยมเรียกว่า ซิก้า (cica) นั่นเอง8

ข้อควรระวัง ในการบริโภคใบบัวบก

แม้ว่าใบบัวบกจะมีประโยชน์มากมาย แต่หากกินอย่างผิดวิธีก็อาจทำให้เกิดโทษได้ โดยปริมาณที่แนะนำสำหรับการกินใบบัวบกคือ 500-750 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะหากกินมากเกินไป ฤทธิ์เย็นที่อยู่ในใบบัวบกจะทำให้ร่างกายเสียสมดุลได้ และหากจะดื่มน้ำใบบัวบก ไม่ควรดื่มเกิน 50 มิลลิลิตรต่อวัน หากศึกษาให้ดี เท่านี้ก็สามารถกินใบบัวบกเพื่อสุขภาพ ไร้กังวลเรื่องโทษที่จะเกิดขึ้น1

อาหารบำรุงสมอง
เสริมความจำ

สรุป

ใบบัวบก เป็นสมุนไพรที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ บี ซี ธาตุเหล็ก แคลเซียม และสารอาหารที่มีประโยชน์อีกมากมายอย่างบราโมซัยด์ บรามิโนซัยด์ ไตรเตอพีนอยด์ มาดิแคสโซซัยด์ และกรดอะมิโน ที่ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยบำรุงสมอง เส้นเลือด ความดันโลหิต ความเครียด และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังเป็นส่วนผสมที่ขาดไม่ได้สำหรับสกินแคร์ เพราะช่วยให้ความชุ่มชื้นได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับคนที่มีผิวแห้ง แพ้ง่ายโดยเฉพาะ

ข้อมูลอ้างอิง
  1. เมดไทย. บัวบก สรรพคุณและประโยชน์ของใบบัวบก 86 ข้อ !. medthai.com. Published 04 July 2020. Retrieved on 20 October 2023.
  2. Derma Innovation. ใบบัวบก ประโยชน์ด้านสุขภาพ และความงามที่มากกว่าแก้ช้ำใน. derma-innovation.com. Published 07 August 2023. Retrieved on 20 October 2023.
  3. Oluranti Mopelola Lawal, Fatima Wakel, and Matthijs Dekker. Consumption of fresh Centella asiatica improves short term alertness and contentedness in healthy females. sciencedirect.com. Published February 2021. Retrieved on 20 October 2023.
  4. Kashmira J. Gohil, Jagruti A. Patel, and Anuradha K. Gajjar. Pharmacological Review on Centella asiatica: A Potential Herbal Cure-all. ncbi.nlm.nih.gov. Published September 2010. Retrieved on 20 October 2023.
  5. Healthline. Does Gotu Kola Help Treat Varicose Veins?. healthline.com. Published 20 December 2017. Retrieved on 20 October 2023.
  6. Healthline. Everything You Need to Know About Gotu Kola. healthline.com. Published 18 September 2018. Retrieved on 20 October 2023.
  7.  Ross Phan, PharmD. What Is Gotu Kola?. verywellhealth.com. Published 03 March 2023. Retrieved on 20 October 2023.
  8. Medical News Today. What to know about using Centella asiatica for the skin. medicalnewstoday.com. Published 29 April 2022. Retrieved on 20 October 2023.
shop now