โคเลสเตอรอลและภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidaemia) เป็นสาเหตุสำคัญของเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การกินอาหารที่มีสารช่วยยับยั้งการออกซิไดซ์ แอลดีแอล โคเลสเตอรอล เช่น ชาเขียว จึงเป็นผลดีในการชะลอการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และลดการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันจากลิ่มเลือดได้

ร่างกายของคนเรามีไขมันในเลือดที่สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่

โคเลสเตอรอล (Cholesterol)

(Cholesterol) เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง เป็นไขมันที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ แต่จะเป็นโทษถ้ามีปริมาณมากไป เนื่องจากไขมันเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เมื่อเกิดการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือด ทำให้อวัยวะเหล่านี้ขาดเลือดไปเลี้ยงจึงเกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงโรคหลอดเลือดส่วนปลาย ระดับโคเลสเตอรอลรวมในเลือดปกติไม่ควรเกิน 200  มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

เป็นไขมันที่ร่างกายได้จากการสังเคราะห์อาหารพวกแป้งและน้ำตาล รวมทั้งโปรตีนที่เหลือใช้ ร่วมกับที่ร่างกายสร้างขึ้นที่ตับ ไตรกลีเซอไรด์เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกายซึ่งเก็บสะสมไว้ที่ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง แต่ไขมันชนิดนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสื่อมของหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดปกติไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และหากสูงมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรควบคุมโดยการคุมอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทน้ำตาล และลดการบริโภคแอลกอฮอล์ทุกชนิด

เกณฑ์ในการตัดสินภาวะไขมันในเลือดผิดปกติสำหรับผู้ใหญ่อายุ 20 ปีขึ้นไป

(ที่มา: National Heart, Lung, and Blood Institute ; National Institute of Health ; Department of Heatlh and Human Services , US.)

โคเลสเตอรอลรวม

น้อยกว่า 200 มก./ดล. อยู่ในเกณฑ์ปกติ
200-239 มก./ดล. ค่อนข้างสูง
240 มก./ดล. ขึ้นไป สูง

แอลดีแอล โคเลสเตอรอล (LDL-Cholesterol)

น้อยกว่า 100 มก./ดล. อยู่ในเกณฑ์ปกติ
100-129 มก./ดล. สูงกว่าปกติเล็กน้อย
130-159 มก./ดล. ค่อนข้างสูง
160-189 มก./ดล. สูง
190 มก./ดล. ขึ้นไป สูงมาก

เอชดีแอล โคเลสเตอรอล (HDL-Cholesterol)

น้อยกว่า 40 มก./ดล. อยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพิ่มปัจจัยเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ
40-59 มก./ดล. ปานกลาง หากระดับสูงกว่านี้ได้ สุขภาพจะดีขึ้น
60 มก./ดล. ขึ้นไป อยู่ในเกณฑ์สูง ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

ไตรกลีเซอไรด์

น้อยกว่า 150 มก./ดล. อยู่ในเกณฑ์ปกติ
150-199 มก./ดล. ค่อนข้างสูง
200-499 มก./ดล. ขึ้นไป สูง
500 มก./ดล. ขึ้นไป สูงมาก

สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ เช่น พันธุกรรม โรคหรือยาบางชนิดที่มีผลต่อการสร้างและสลายไขมันในเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไตวาย ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด  ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น รวมทั้งการกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น คาร์โบไฮเดรต น้ำตาลซูโครส ตลอดจนการดื่มสุราและการสูบบุหรี่

ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง เนื่องจากมีส่วนทำให้ตะกรันที่เกาะตัวหนาตามผนังหลอดเลือดเกิดการปริกะเทาะ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกล็ดเลือดที่อยู่ในกระแสเลือดมาเกาะรวมตัวกันในบริเวณตะกรัน ทำให้เกิดการอุดตันอย่างเฉียบพลัน เลือดจึงไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจหรือสมอง

  • หากเกิดกับหลอดเลือดหัวใจ เรียกว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน บริเวณกล้ามเนื้อที่ตายมักจะกระตุ้นให้หัวใจเกิดการเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้ หรือหากปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายเป็นบริเวณกว้างก็ทำให้หน้าที่ของหัวใจในการสูบฉีดเลือดล้มเหลว ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน
  • หากเกิดกับหลอดเลือดสมอง ก็จะทำให้สมองขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน (Stroke) กลายเป็นอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ครึ่งซีก กรณีเกิดการอุดตันในหลอดเลือดขนาดใหญ่ที่ไปเลี้ยงสมอง ถ้าได้รับการแก้ไขไม่ทันก็จะเกิดอัมพาตครึ่งซีกอย่างถาวร

ชาเขียวกับโคเลสเตอรอล

ชาเขียวเป็นแหล่งสำคัญของไฟโตนิวเทรียนท์กลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่มีอยู่มากในชาเขียวคือ แคททิชิน (Catechins) และธีอะฟลาวินส์ สารเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxidant) และยับยั้งการออกซิไดซ์ของแอลดีแอล โคเลสเตอรอล (LDL-Cholesterol) ซึ่งส่งผลดีในการชะลอการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และลดการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันจากลิ่มเลือด นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง เพิ่มการเผาผลาญพลังงาน เป็นต้น

ประโยชน์ของสารสกัดชาเขียว

  • ลดระดับแอลดีแอล โคเลสเตอรอล ในเลือดโดยเพิ่มตัวรับแอลดีแอลในตับ
  • ลดระดับโคเลสเตอรอลรวม โดยลดการดูดซึมไขมันและโคเลสเตอรอลจากทางเดินอาหาร
  • เพิ่มเอชดีแอล โคเลสเตอรอล (ไขมันชนิดดี)

สารสำคัญอื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจและสามารถกินร่วมกับสารสกัดจากใบชาเขียวได้ เช่น กระเทียม น้ำมันปลา เลซิติน ใยอาหาร (ควรรับประทานห่างจากน้ำมันปลา/เลซิตินอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันใยอาหารลดการดูดซึม) และโคเอ็นไซม์ คิวเท็น (ถ้าอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือรับประทานยาลดไขมันกลุ่มสเตติน หรือตามแพทย์สั่ง)

ข้อมูลอ้างอิง
  1. ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพนิวทริไลท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
  2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข fda.moph.go.th
  3. Ikeda I, Imasato Y, Sasaki E, et al. Tea catechins decrease micellar solubility and intestinal absorption of cholesterol in rats. Biochim Biophys Acta. 1992;1127:141-146.
  4. Kris-Etherton PM, Keen CL. Evidence that the antioxidant flavonoids in tea and cocoa are beneficial for cardiovascular health. Curr Opin Lipidol. 2002;13:41-49.
  5. Maron DJ, Lu GP, Cai NS, et al. Cholesterol-Lowering Effect of a Theaflavin-Enriched Green Tea Extract. Arch Intern Med. 2003;163:1448-53.
  6. Vinson Ja, Dabbagh YA. Effect of green and black tea supplementation on lipids, lipid oxidation and fibrinogen in the hamster: mechanisms for the epidemiological benefits of tea drinking. FEBS Lett. 1998;433:44-46.
  7. Young W, Hotovec RL, Romero AG. Tea and artherosclerosis. Nature. 1967;216:1015-1016.
shop now