อาการท้องผูก คือ ภาวะที่อุจจาระแข็ง มีอาการปวดท้อง แต่ถ่ายไม่ออก ซึ่งสามารถสร้างความรำคาญใจและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็น การเสียเวลากับการพยายามเข้าห้องน้ำ หรือความกังวลใจเวลาที่ต้องเดินทางไกล เป็นต้น ซึ่งหากปล่อยให้มีอาการท้องผูกอยู่นานเกินไปก็อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และอาจเป็นอันตรายอีกด้วย

บทความนี้ จึงชวนมาดูกันว่าอาการท้องผูกเกิดจากอะไร มีวิธีไหนที่ง่ายๆ และแก้ท้องผูกได้บ้าง เพื่อที่จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ให้ดีขึ้น รวมถึง แนะนำสารอาหารบำรุงสุขภาพลำไส้ เช่น โพรไบโอติก และไฟเบอร์ ตัวช่วยเสริมให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ

อาการท้องผูก ที่พบได้บ่อย

อาการท้องผูก คือ อาการที่อุจจาระเคลื่อนออกจากลำไส้ช้าเกินไปจนทำให้มีความแข็งและแห้ง เป็นเหตุของอาการที่ตามมาบ่อยๆ อย่าง การเบ่งขับถ่ายไม่ออกหรืออาจเจ็บปวดเมื่อขับถ่าย ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบาย อาจทำให้เกิดตะคริวที่ท้องได้ในบางคน หากท้องผูกเป็นเวลานาน ก็จะมีการสะสมของสารพิษภายในร่างกาย ซึ่งนำไปสู่สภาวะสุขภาพอื่นๆ เช่น ริดสีดวงทวาร หรือลำไส้อุดตัน

ปัญหาท้องผูกเกิดจากอะไรได้บ้าง

ลำไส้เป็นอวัยวะที่จะซึมซับน้ำและสารอาหารที่คงเหลือในอาหารที่ผ่านลำไส้ ซึ่งจากกระบวนการนี้ก็จะทำให้เกิดของเสียอย่างอุจจาระขึ้น โดยปกติลำไส้จะผลักดันให้เกิดการขับถ่ายเพื่อกำจัดของเสียเหล่านี้ แต่หากของเสียตกค้างในลำไส้นานเกินไปก็อาจทำให้อุจจาระเสียน้ำมากจนแห้งและแข็งได้ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก นอกจากนี้ ท้องผูกยังอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • อาหารที่กินมีไฟเบอร์ต่ำ มีส่วนที่จะทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ เพราะไฟเบอร์จะเป็นกากอาหารที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้และอุ้มน้ำได้ดี ทำให้อุจจาระมีความนิ่มและขับถ่ายง่ายตามไปด้วย
  • การกินน้ำที่น้อยเกินไป จะทำให้อุจจาระมีความแข็งและแห้งเกินไป จนทำให้ปวดท้องแต่เบ่งไม่ออกได้
  • คนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย และใช้ชีวิตอยู่กับที่หรือนั่งนานๆ จะมีปัญหาท้องผูกได้ง่ายขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้ดีกว่า
  • อายุที่มากขึ้น ลำไส้ก็จะเริ่มมีความอ่อนแอลงไปอีก ทำให้การเกิดปัญหาท้องผูกเกิดได้ง่ายขึ้นตามอายุไป
  • ความเครียดจากการเดินทางไปที่ที่ไม่คุ้น หรือจากการใช้ชีวิตประจำวัน อาจจะรบกวนการขับถ่ายและทำให้ของเสียตกค้างอยู่ในร่างกายนานเกินไปได้
  • ผลข้างเคียงจากยาบางประเภท เช่น กลุ่มยาทางจิตเวช ยาลดการบีบเกร็งของลำไส้ที่ใช้แก้ปวดท้อง อย่าง ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยาแก้แพ้บางชนิด หรือยาลดความดันโลหิต
  • เป็นผลจากโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง และโรคทางระบบประสาทต่างๆ
  • การทำงานของลำไส้หรือกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายมีความผิดปกติ
  • การอุดกั้นของลำไส้ ผ่านเนื้องอก ลำไส้ตีบตัน หรือความผิดปกติที่ทวารหนัก
  • การตั้งครรภ์ เนื่องจากทำให้มดลูกมีการขยายตัว ทำให้ไปกดทับบริเวณลำไส้ใหญ่ และส่งผลให้ระบบขับถ่ายไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

โรคที่เกิดจากอาการท้องผูกเรื้อรัง

ปัญหาท้องผูก ไม่ใช่มีแต่อาการปวดท้อง ถ่ายไม่ออก หรือว่าอุจจาระแข็งเท่านั้น แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดปัญหาหรือโรคอื่นๆ ตามมาได้อีกมาก ซึ่งหลายๆ โรคก็จะยิ่งสร้างความไม่สบายและอาการต่างๆ ที่ทำให้การขับถ่ายยิ่งทำได้ยากมากขึ้นไปอีก และสามารถอันตรายรุนแรงกับชีวิตได้เลย ตัวอย่างก็จะเป็นดังต่อไปนี้

ริดสีดวงทวาร

โรคริดสีดวงทวารสามารถเกิดขึ้นได้จากการโดนอุจจาระที่มีความแข็งขูดบริเวณหลอดเลือดจนมีการฉีกขาดได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดระหว่างการขับถ่าย มีความไม่สบายตัวและอาจจะมีเลือดออกมาระหว่างการขับถ่ายได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยยิ่งไม่อยากเข้าห้องน้ำมากขึ้นไปอีก

ไส้เลื่อน

เมื่อท้องผูกมากๆ แรงดันในช่องท้องอาจจะสูงขึ้นจนเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเป็นไส้เลื่อนได้ ซึ่งจะเป็นภาวะที่ลำไส้หรืออวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ในช่องท้อง เกิดการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งที่อยู่เดิมผ่านช่องว่าง หรือดันตัวผ่านบริเวณกล้ามเนื้อหรือพังผืดไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง และมักทำให้เห็นเป็นก้อนตุงตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง ซึ่งอาการไส้เลื่อนยังสามารถพัฒนาต่อเนื่องไปเป็นอันตรายอื่นๆ ต่อไปได้อีก ทำให้จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด1

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

การเบ่งอุจจาระเป็นประจำ สามารถทำให้กล้ามเนื้อเสียหายได้ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน หรือช่องคลอดไม่กระชับ นำไปสู่โรคกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง ที่จะทำให้มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ ทำให้ปัญหาท้องผูก เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะทำให้ร่างกายมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะได้ หากต้องพบเจอกับอาการท้องผูกในระยะเวลาที่ยาวนาน

ลำไส้อุดตัน

คนที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคลำไส้อุดตันได้ ทำให้มีอาการปวดท้องมาก อึดอัด และแน่นท้อง มีอาการเจ็บปวดเวลาออกแรงเบ่งตอนขับถ่าย หากเป็นมากๆ อาจต้องผ่าตัดลำไส้บางส่วนออกไป

มะเร็งลำไส้

อาการท้องผูกเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณที่แสดงถึงอาการเริ่มต้นของการป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่2-3 ที่หากปล่อยไว้เป็นเวลายาวนานหรือไม่ตรวจพบตั้งแต่แรกๆ ก็จะเป็นอันตรายไปถึงชีวิตได้ ดังนั้น หากมีอาการท้องผูกหรืออาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นนานกว่าสองสัปดาห์โดยไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น2 ก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อตรวจร่างกายให้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไรกันแน่ และจะได้เตรียมการป้องกันและรักษาให้ถูกต้องต่อๆ ไป

วิธีแก้อาการท้องผูกแบบง่ายๆ

ปัญหาท้องผูกส่วนหนึ่งเกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างการกินอาหาร พฤติกรรมการขับถ่าย และกิจกรรมที่ทำระหว่างวัน ดังนั้น หากมีการปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้เหมาะสม ก็จะช่วยเลี่ยงการเกิดปัญหาท้องผูกได้ ตัวอย่างของพฤติกรรมที่เสี่ยงก่อปัญหา และควรทบทวนปรับเปลี่ยนสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูก ได้แก่

  • ขับถ่ายให้เป็นเวลา เพื่อที่จะทำให้ร่างกายจดจำและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การขับถ่ายไม่ต้องใช้แรงเบ่งมาก
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อทำให้อุจจาระมีน้ำเพียงพอ ไม่แห้งและแข็งจนเกินไป
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดี รวมถึงกล้ามเนื้อลำไส้ด้วย ทำให้การขับถ่ายดีตามไป

  • เลือกรับประทานอาหารที่ไฟเบอร์สูง เพื่อทำให้อุจจาระนิ่มลงและสามารถขับถ่ายได้ง่ายมากขึ้น
  • เติมโพรไบโอติกเป็นประจำ เพื่อปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ ให้ทำงานอย่างเป็นปกติ

ท้องผูก กินอะไรดี?

อาการท้องผูกนอกจากจะเกิดจากพฤติกรรมต่างๆ แล้ว อาหารที่กินยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเกิดอาการท้องผูกอีกด้วย จึงมีแหล่งอาหารอีกหลายชนิดที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานอย่างเป็นปกติ และลดโอกาสการเกิดปัญหาท้องผูกได้

โพรไบโอติก

โพรไบโอติกเป็นคำที่พูดรวมถึงยีสต์และแบคทีเรียดีที่มีประโยชน์ พบได้ทั่วไปในร่างกายมนุษย์ ซึ่งยีสต์และแบคทีเรียดีเหล่านี้ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือร่างกายเราในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น การช่วยต่อต้านแบคทีเรียที่ไม่ดี ช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ป้องกันหรือบรรเทาอาการเกี่ยวกับภาวะในลำไส้ และสร้างวิตามินต่างๆ ให้ร่างกาย ดังนั้น การกินอาหารที่มีโพรไบโอติกอย่าง โยเกิร์ต หรือของหมักดอง จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีในการป้องกันอาการท้องผูกได้

ไฟเบอร์

ไฟเบอร์ หรือเส้นใยอาหาร คือ กากใยคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งจากพืชที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ โดยไฟเบอร์มีส่วนช่วยแก้ปัญหาท้องผูกด้วยการทำหน้าที่อุ้มน้ำและป้องกันไม่ให้อุจจาระเกิดความแห้งและแข็งเกินไปได้ ทำให้การกินผัก ผลไม้ ธัญพืช และข้าวอย่าง ข้าวโอ๊ต ที่เป็นแหล่งไฟเบอร์ที่ดีจึงสามารถช่วยแก้ปัญหาท้องผูกได้

โพแทสเซียม

โพแทสเซียมเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของเส้นประสาท กล้ามเนื้อและสุขภาพที่ดีของกระดูก รวมไปถึง การทำงานของกล้ามเนื้อลำไส้ด้วย โดยโพแทสเซียมจะพบได้ในผลไม้อย่าง กล้วย หรือส้ม และผักอย่าง อะโวคาโด มะเขือเทศ และมันฝรั่งแบบมีเปลือกอยู่

อาการท้องผูกเกิดจากการที่อุจจาระค้างอยู่ในลำไส้นานเกินไปจนแห้งและแข็ง จนทำให้ปวดและแน่นท้อง แต่เบ่งยาก และขับถ่ายไม่ออก ซึ่งปัญหาท้องผูกสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พฤติกรรมการกินอาหารและน้ำ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำไส้ และผลข้างเคียงต่างๆ จากยาและโรคประจำตัว ซึ่งหากปล่อยปัญหาท้องผูกทิ้งไว้อาจนำไปสู่โรคต่างๆ อย่าง ริดสีดวงทวาร ลำไส้อุดตัน หรือไส้เลื่อนได้ จึงควรจะป้องกันและแก้ไขด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้การขับถ่ายเป็นปกติ รวมไปถึงรับประทานอาหารที่จะเสริมสุขภาพของลำไส้อย่าง โพรไบโอติก ไฟเบอร์ และโพแทสเซียมด้วย

shop now