ร่างกายประกอบด้วยการทำงานของหลายระบบ เรามักให้ความสำคัญกับระบบหายใจหรือระบบสมอง ทั้งที่ระบบทางเดินอาหารก็เป็นระบบที่สำคัญมาก เพราะทำหน้าที่ให้อาหารผ่านเข้าสู่ร่างกาย มีอาหารประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบทางเดินอาหาร และช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้เป็นปกติ นั่นก็คือ เส้นใยอาหาร หรือ ไฟเบอร์ (Fiber) ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยเสริมสุขภาพของระบบทางเดินอาหารให้ทำงานได้เป็นปกติ กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ เร่งการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย และใยอาหารบางชนิดยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและโคเลสเตอรอลอีกด้วย

ระบบทางเดินอาหาร หมายถึง ระบบอวัยวะที่เป็นหลอดเปิดยาวต่อเนื่องกัน โดยเริ่มตั้งแต่ปาก ผ่านหลอดคอ เข้าสู่กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และสิ้นสุดที่ทวารหนัก บริเวณที่เกิดการย่อยอาหารมากที่สุดก็คือที่ลำไส้เล็กเนื่องจากบริเวณนี้มีเอนไซม์มากมายหลายชนิดเข้ามาเกี่ยวข้อง การย่อยอาหารจะสิ้นสุดลงเมื่ออาหารถูกเปลี่ยนสภาพเป็นสารอาหารที่พร้อมถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด

อย่างไรก็ตามยังมีอาหารบางส่วนที่ไม่ถูกย่อยด้วยระบบเอนไซม์ในลำไส้เล็ก สารกลุ่มนี้เรียกว่า ใยอาหาร และจะเคลื่อนจากลำไส้เล็กเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นที่อาศัยของแบคทีเรียหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายจำนวนมหาศาล ซึ่งรู้จักกันในชื่อโปรไบโอติก (Probiotics) แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่นี้มีจำนวนมากกว่าจำนวนเซลล์ของร่างกายถึง 10 เท่า และใช้ใยอาหารบางกลุ่มที่มันย่อยได้ซึ่งเรียกว่า พรีไบโอติก (Prebiotics) เป็นอาหาร และทำหน้าที่ย่อยใยอาหารให้เป็นกรดไขมันเล็กๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย กล่าวโดยสรุป พรีไบโอติกเป็นอาหารของโปรไบโอติกนั่นเอง

fiber-1.jpg

ชนิดของใยอาหาร

มี 2 ชนิด คือ

1. ใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำ (Insoluble Fiber)

ใยอาหารกลุ่มนี้ไม่ละลายน้ำแต่จะดึงน้ำไว้ได้ ทำให้เกิดการพองตัวในน้ำลักษณะคล้ายฟองน้ำ ทำให้เพิ่มปริมาตรของกระเพาะอาหาร ผู้ที่รับประทานใยอาหารกลุ่มนี้จึงรู้สึกอิ่ม ช่วยเร่งให้อาหารผ่านไปตามทางเดินอาหารเร็วขึ้น และช่วยเพิ่มมวลของอุจจาระ ทำให้ช่วงเวลาที่กากอาหารค้างอยู่ในทางเดินอาหารสั้นลงหรือขับถ่ายเร็วขึ้น เกิดความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระลดปัญหาท้องผูกได้ เช่น เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนินที่พบบนผนังเซลล์ของพืช ใยอาหารประเภทนี้พบได้มากในรำข้าว ผักและผลไม้ ได้แก่ อ้อย ข้าวโอ๊ต ผงอะเซโรลา เชอร์รี ข้าวสาลี ถั่วเหลือง เลมอน กระบองเพชร รำข้าวบาร์เลย์ ใยอาหารจากถั่วลันเตา แอปเปิ้ล แครอท

2. ใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำ (Soluble Fiber)

มีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้ และสามารถดูดซับสารที่ละลายในน้ำไว้กับตัว เช่น เพคติน (Pectin) กัม (Gums) มิวซิเลจ (Mucilage) พบมากในพืชจำพวกถั่ว รำข้าวโอ๊ต ผักและผลไม้ เป็นสารที่ร่างกายย่อยไม่ได้ พบได้ภายในเซลล์พืช มีส่วนทำให้อาหารผ่านไปในทางเดินอาหารช้าลงโดยไม่ช่วยเพิ่มมวลของอุจจาระ ช่วยลดการดูดซึมโคเลสเตอรอล และลดการดูดซึมเกลือน้ำดี แต่ใยบางตัวยังถูกย่อยด้วยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้ เกิดเป็นปฏิกิริยาที่เรียกว่าการหมัก ปัจจุบันนิยมเรียกใยอาหารกลุ่มนี้ว่าพรีไบโอติก (Prebiotics) เนื่องจากช่วยส่งเสริมให้แบคทีเรียกลุ่มไมโครฟลอร่าหรือโปรไบโอติก (Probiotics) เจริญเติบโตได้ดี

ดังนั้น ใยอาหารทั้งสองชนิดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ร่างกายควรได้รับในทุกๆ วันในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน สมาคมนักกำหนดอาหารของสหรัฐอเมริกา (The American Dietetic Associationหรือ ADA) แนะนำว่าร่างกายควรได้รับใยอาหารประมาณวันละ 20-35 กรัม ขึ้นอยู่กับพลังงานโดยรวมที่ได้รับ โดยเลือกจากหลายแหล่ง เช่น ผัก ผลไม้ ถั่วเมล็ดเปียก และธัญพืช

พรีไบโอติก (Prebiotics) คือ ส่วนประกอบของอาหารที่ไม่ถูกย่อยโดยเอนไซม์ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์และสัตว์ ใยอาหารกลุ่มนี้จึงผ่านระบบทางเดินอาหารไปสู่บริเวณลำไส้ใหญ่ในสภาพที่สมบูรณ์ และกลายเป็นอาหารของจุลินทรีย์กลุ่มที่เป็นโปรไบโอติก ทำให้เกิดสารหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ซึ่งร่างกายนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น กรดไขมันห่วงโซ่สั้น กระบวนการย่อยของโปรไบโอติกนี้ทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในลำไส้ลดลง จึงช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ก่อปัญหาไปในตัว อาหารที่มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ได้แก่ ธัญพืช ผัก ผลไม้ชนิดต่างๆ

อยากรู้เรื่องโพรไบโอติก (Probiotic) คลิก!

shop now