การดำรงชีวิตอย่างปราศจากโรคภัยเป็นความต้องการสูงสุดของมนุษย์ แต่ผู้คนต้องการมากกว่านั้น...นั่นก็คือการมีชีวิตอย่างยืนยาวเพื่ออยู่กับคนที่เรารักให้นานที่สุด การชะลอความชราภาพและยืดอายุขัยจึงเป็นศาสตร์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างลึกซึ้ง ปัจจุบันได้ค้นพบว่ามีสารอาหารที่มีผลในการช่วยชะลอวัยและยืดอายุขัยได้ นั่นก็คือ น้ำมันปลา ซึ่งอุดมด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวกลุ่ม “โอเมก้า-3”

น้ำมันปลาคือสารอาหารกลุ่มไตรกลีเซอไรด์  ซึ่งสกัดได้จากส่วนต่าง ๆ (ยกเว้นจากตับ) ของปลาทะเลบางชนิด สารสำคัญในน้ำมันปลาที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวกลุ่ม “โอเมก้า-3” น้ำมันปลาที่มีสภาพเป็นน้ำมันบริสุทธิ์หรือเป็นไตรกลีเซอไรด์บริสุทธิ์จะมีองค์ประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงกลุ่มโอเมก้า-3 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของปริมาณกรดไขมันทั้งหมด กรดไขมันไม่อิ่มตัวกลุ่มโอเมก้า-3 ประกอบด้วยกรดไขมันหลัก 2 ตัว คือ “ดีเอชเอ” (DHA) และ “อีพีเอ” (EPA) ซึ่งส่งผลต่อกลไกการทำปฏิกิริยาระดับเมแทบอลิซึมที่เกี่ยวพันกับดีเอ็นเอ

บทบาทของกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีต่อกลไกการยืดอายุขัยและชะลอความชราสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. ต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory)

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมถอยลง นำไปสู่การเกิดภาวะอักเสบในเซลล์และอวัยวะต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะอักเสบ ภูมิต้านทาน และความชราภาพเช่นนี้เองทำให้เกิดคำใหม่เรียกว่า Inflammaging ซึ่งหมายถึงภาวะอักเสบจากความเสื่อมถอยของภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากความชราภาพ นำไปสู่การสิ้นอายุขัยของเซลล์ จึงกล่าวได้ว่าความชราภาพคือภาวะอักเสบเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับร่างกายนั่นเอง การลดภาวะอักเสบจึงเป็นกลไกสำคัญในการยืดอายุขัยและลดความชราภาพ มีข้อมูลวิจัยยืนยันว่ากรดไขมันโอเมก้า-3 จากปลา ทั้งชนิด EPA และ DHA สามารถลดภาวะอักเสบในเซลล์ผ่านกลไกการเพิ่มสารต้านอาการอักเสบ (Anti-inflammation) ที่สำคัญๆ หลายชนิด จึงส่งผลให้ความชราภาพถูกชะลอให้ช้าลงได้

2. เติมอารมณ์เบิกบาน (Good mind)

กรดไขมันโอเมก้า-3 ได้รับสมญานามอย่างไม่เป็นทางการว่า Happy fat หรือไขมันก่อสุข เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า-3 ทั้งชนิด EPA และ DHA สามารถออกฤทธิ์ลดภาวะซึมเศร้าได้ โดยเข้าไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางตัวที่ทำลายเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารกึ่งฮอร์โมนที่สร้างขึ้นในสมอง การลดลงของสารเซโรโทนินก่อปัญหาในผู้ป่วยทางสมองหลายกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยสมาธิสั้น (ADHD, Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ไบโพลาร์ จิตเภท และผู้ป่วยทางอารมณ์บางกลุ่ม เช่น ภาวะซึมเศร้า ดังนั้น อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าอันเป็นผลจากการขาดสารเซโรโทนิน นั่นคือการได้รับกรดไขมันโอเมก้า-3 ในปริมาณไม่เพียงพอนั่นเอง ที่สำคัญ ภาวะซึมเศร้าตลอดจนโรคทางสมองอื่นๆ ยังเร่งความชราภาพให้เกิดมากขึ้นด้วย

3. ต่ออายุขัยให้เทโลเมียร์ (Elongated Telomere)

เทโลเมียร์คือดีเอ็นเอที่อยู่ส่วนปลายสุดของโครโมโซมแต่ละแท่ง ทำหน้าที่สำคัญคือกำหนดอายุขัยของเซลล์ ทุกครั้งที่เซลล์แบ่งตัว เทโลเมียร์จะสั้นลง ด้วยเหตุนี้เมื่ออายุเพิ่มขึ้นจนเข้าสู่วัยชรา เทโลเมียร์ที่ผ่านการแบ่งตัวหลายครั้งจึงสั้นลงจนไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก เป็นผลให้อายุขัยจบสิ้นลง ความยาวของเทโลเมียร์จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสื่อมสภาพของเซลล์ การยืดอายุขัยอาจทำได้โดยทำให้เทโลเมียร์ยาวขึ้น หรือโดยชะลอการหดสั้นลงของเทโลเมียร์ แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่เข้าใจกลไกนี้ดีนัก แต่ก็รู้ว่ากรดไขมันโอเมก้า-3 ออกฤทธิ์ช่วยชะลอการหดสั้นลงของเทโลเมียร์ได้

นอกเหนือจากน้ำมันปลาที่มีสารที่ให้ผลดีต่อการชะลอความชราภาพและยืดอายุขัยผ่านกลไกต่างๆ แล้ว ยังมีสารอาหารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยืดอายุขัยและชะลอความชราดังนี้

สารสกัดจากกระเทียม (Garlic extract)

สารไฟโตนิวเทรียนท์สำคัญในกระเทียม ได้แก่ S-1-Propenyl-l-cysteine (S1PC) และ S-Allyl-L-cysteine (SAC) สาร 2 ชนิดนี้สามารถพบได้ในกระเทียมดิบในปริมาณต่ำ มีเพียงวิธีบ่มสกัดเท่านั้นจึงจะทำให้ได้ปริมาณสารที่มากพอที่จะช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน ลดความดันโลหิต และมีผลในการชะลอวัยได้ นอกจากนี้ สารสกัดจากกระเทียมยังช่วยเสริมการทำหน้างานของสมองและเซลล์ประสาท จึงช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์และโรคทางระบบประสาทอื่นที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

โคเอนไซม์คิว 10 (CoQ10)

การพัฒนาการด้านเวชศาสตร์ไมโตคอนเดรีย (Mitochondrial medicine) โดยพบว่าไมโตคอนเดรียเป็นอวัยวะย่อยภายในเซลล์ที่มีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายพลังงานให้กับเซลล์ กลไกการสลายพลังงานในไมโตคอนเดรียทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันขึ้น และหากควบคุมได้ไม่ดีอนุมูลอิสระที่เกิดจากปฏิกิริยาต่างๆ ในไมโตคอนเดรียอาจหลุดออกมา นำไปสู่การเร่งความชราภาพและลดอายุขัยของเซลล์ได้ ดังนั้น นักโภชนาการยุคใหม่จึงให้ความสำคัญกับโคเอนไซม์คิว 10 มากขึ้นโดยเชื่อว่าสามารถลดความบกพร่องของไมโตคอนเดรียซึ่งนำไปสู่การชะลอความชราภาพลงได้

วิตามินซี (Vitamin C)

วิตามินซีเป็นสารเกี่ยวข้องกับสารพันธุกรรม จึงช่วยป้องกันโรคที่อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมได้ เช่น อัลไซเมอร์ และโรคทางระบบประสาทและสมองอื่นๆ ความเข้าใจที่มากขึ้นต่อวิตามินตัวนี้อาจนำไปสู่วิทยาการใหม่ที่ช่วยค้นพบวิธีการชะลอการลดความยาวของเทโลเมียร์ รวมถึงวิทยาการทางด้าน Inflammaging และอื่นๆ ข้อควรระวังในการใช้วิตามินซีคืออย่าให้ปริมาณมากเกินไปจนกระทั่งสร้างปัญหาออกซิเดชัน แทนที่จะต้านออกซิเดชัน

shop now