กรดไขมันโอเมก้า-3 เป็นสารอาหารสำคัญในลำดับต้นๆ ที่คนนึกถึง เพราะคุณประโยชน์มากมายที่มีต่อร่างกาย โดยเฉพาะต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด เราจึงควรกินอาหารที่อุดมด้วยกรดไขมันโอเมก้า- 3 เช่น ปลาทะเลชนิดต่างๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับกรดไขมันโอเมก้า-3 อย่างเพียงพอ

แหล่งกำเนิดของกรดไขมันโอเมก้า-3

ไขมันในอาหารเป็นแหล่งของกรดไขมัน ทั้งกรดไขมันไม่จำเป็นและกรดไขมันจำเป็น เช่น กรดไลโนอิก (Linoeic Acid) และกรดไลโนเลนิก (Linolenic Acid) ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโต รักษาสมดุลของผิวหนัง ควบคุมการเผาผลาญโคเลสเตอรอล และยังเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของร่างกาย นอกจากนี้ ไขมันยังมีหน้าที่ในการลำเลียงและดูดซึมวิตามินชนิดที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี และเค รวมทั้งแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ในบางกรณีไขมันจากอาหารยังเป็นแหล่งของวิตามินเองด้วย เช่น น้ำมันถั่วเหลืองเป็นแหล่งสำคัญของวิตามินอี

น้ำมันปลาคือไขมันชนิดหนึ่งที่สกัดได้จากส่วนต่างๆ (ยกเว้นตับ) ของปลาทะเลที่มีไขมันสูง เช่น แซลมอน ทูน่า แมคเคอเรล แมนฮาเดน เทราท์ และพอลล็อก และเป็นแหล่งกำเนิดที่ดีที่สุดของกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ชื่อว่า โอเมก้า-3 ที่พบมากในปลาทะเลมีอยู่ 2 ชนิด  คือ อีพีเอ (EPA หรือ Eicosapentaenoic Acid) และดีเอชเอ (DHA หรือ Docosahexaenoic Acid)

น้ำมันปลาที่ผ่านกระบวนการกลั่นและการสกัดยางออกมีสภาพเป็นน้ำมันบริสุทธิ์หรือเป็นไตรกลีเซอไรด์บริสุทธิ์ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นกรดไขมันไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของน้ำหนัก มีทั้งกรดไขมันอิ่มตัว กรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง และกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง กรดไขมันทั้งสามกลุ่มนี้พบได้ในน้ำมันพืชและไขมันสัตว์บก โดยส่วนใหญ่เป็นชนิดโอเมก้า-6 (Omega-6) ในน้ำมันพืชบางชนิดอาจมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ชนิด ALA (Alpha-Linolenic Acid) บ้างส่วนอีพีเอและดีเอชเอไม่พบในน้ำมันพืช ทั้งยังพบได้น้อยในไขมันจากสัตว์บกและสัตว์ปีก ขณะที่ไขมันจากปลาทะเลและสัตว์ทะเลมีกรดไขมันโอเมก้า-6 ไม่มากนัก แต่พบกรดไขมันโอเมก้า-3 ในปริมาณสูง จึงเป็นที่ยอมรับกันว่าการบริโภคปลาทะเลเป็นประจำรวมถึงการบริโภคน้ำมันปลาส่งผลให้การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในคนกลุ่มต่างๆ ลดลง

หลายคนอาจสงสัยว่า เราจำเป็นต้องบริโภคปลาทะเลเพื่อให้ได้รับกรดไขมันโอเมก้า-3 ทุกวันหรือไม่ ปัจจุบันคนบริโภคกรดไขมันโอเมก้า-6 เพิ่มสูงขึ้นมากจากน้ำมันพืชที่ใช้ประกอบอาหาร ทำให้สัดส่วนของกรดไขมันโอเมก้า-3 ต่อกรดไขมันโอเมก้า-6 ที่ได้รับลดลง ซึ่งถ้าร่างกายได้รับกรดไขมันโอเมก้า-6 ในปริมาณมากเกินไป จะส่งผลเสียต่อร่างกายคือ ทำให้เลือดข้นหนืดมากขึ้นและอาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การบริโภคปลาทะเลเพื่อให้ได้รับกรดไขมันโอเมก้า-3 เพิ่มขึ้นเพื่อลดฤทธิ์จากกรดไขมันโอเมก้า-6 ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่า

คุณประโยชน์ของกรดไขมันโอเมก้า-3 จากน้ำมันปลาต่อสุขภาพด้านต่างๆ

คุณประโยชน์ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด (Coronary Vascular Disease หรือ CVD)

  • ลดการเต้นผิดปกติของหัวใจ
  • ลดการจับตัวกันของเกล็ดเลือด
  • ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
  • ลดหลอดเลือดแดงแข็ง
  • ลดความดันโลหิต
  • เสริมการทำงานของไนตริกออกไซด์ต่อการพักของหลอดเลือด
  • ลดภาวะอักเสบ

กรดไขมันโอเมก้า-3 จากปลาทะเลให้ผลดีต่อการป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ในขณะที่โอเมก้า-3 จากพืชให้ผลน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม การเสริมโอเมก้า-3 ด้วยการบริโภคปลาทะเลควรระวังปัญหาโลหะหนักและสารพิษในปลาทะเลบางชนิด โดยอาจเปลี่ยนมาเสริมในรูปน้ำมันปลาที่มีคุณภาพ ในกรณีผู้ป่วยโรคหัวใจแนะนำให้บริโภคอีพีเอและดีเอชเอ 1 กรัมต่อวัน หากมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงควรได้รับอีพีเอและดีเอชเอรวม 2 - 4 กรัมต่อวันภายใต้การดูแลของแพทย์ สำหรับคนทั่วไปปริมาณกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีช่วยลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดควรบริโภคประมาณ 300 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งอีพีเอและดีเอชเอต่างช่วยลดการเกิดลิ่มเลือดได้

คุณประโยชน์ต่อการต้านการอักเสบ

  • โรคข้อรูมาติซึม ช่วยลดอาการทรมานจากการปวดข้อในกรณีของโรคข้อรูมาติซึม (Rheumatoid Arthritis) โดยมีการนำกรดไขมันโอเมก้า-3 มาใช้แทนยาลดการปวดและอักเสบกลุ่มเอ็นเสด (Non-Steroid Anti-inflammatory Drugs: NSAIDs)
  • กลุ่มโรคความผิดปกติในทางเดินอาหาร ปัจจุบันมีความพยายามนำกรดไขมันโอเมก้า-3 ไปใช้ลดการอักเสบในกลุ่มโรคความผิดปกติในทางเดินอาหาร เช่น การเกิดแผลในลำไส้ใหญ่ และโรคโครนส์ อีกด้วย
  • โรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคเรื้อนกวางหรือโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบเกิดขึ้นร่วมด้วย การรับประทานน้ำมันปลาที่มีอีพีเอและดีเอชเอปริมาณสูงระยะเวลาหนึ่ง จะสามารถช่วยบรรเทาอาการของโรค ทำให้อาการคันและการอักเสบหายไป

นอกจากนี้ การเสริมดีเอชเอหรือกรดไขมันโอเมก้า-3 ยังมีประโยชน์อีกหลายด้าน เช่น ช่วยให้การสร้างเซลล์ประสาท เซลล์สมอง และดวงตาของทารกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเรื่องความจำและโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ช่วยลดอาการซึมเศร้า รักษาโรคหอบหืด

ข้อมูลอ้างอิง
  1. Broughton, et al. American Journal of Clinical Nutrition 1997;65: 1011- 17
  2. Carpentier YA. (personal communication).
  3. Cloughley I. Bangkok: Osothspa 1996.
  4. Dahlan W, et. al. Biomed Environ Sc 1996; 9: 263-268.
  5. Dahlan W, et. al. Clin Nutr 1992; 11: 255-261, 262-268.
  6. Frank, et al. American Journal of Clinical Nutrition 2001;73:539-48
  7. Goto AM Jr, Patsch JR, Yamamoto A. Am J Cardiol 1991; 68: 11A
  8. Grimminger F, Mayer K, Walmrath, Schlotzer E, Seeger W. In: Pharmacological Nutrition Immune Nutrition. L. Cynober, P. Furst, P. Lawin (eds). Munchen, Germany: W. Zuckschwerdt Verlag, 1995 pp 116-121.
  9. Hibbeln. The Lancet, 1998; 351: 1213
  10. Kris-Etherton, et al. Circulation 2002; 106:2747-57
  11. Larsson, et al. American Journal of Clinical Nutrition 2004; 79: 935-45
  12. Leitzmann, et al. American Journal of Clinical Nutrition 2004; 80: 204-16
  13. Miyanaga K, et al. J Clin Therap & Med 1995; 11: 4
  14. Severus, et al. Archives of General Psychiatry 1999; 56: 380-81.
  15. Simopoulos AP. In: GA. Spiller (ed) Handbook of Lipids in Human Nutrition. London: CRC 1996: 51-73; 75-89.
    Small. New Scientist 2002; 24: 34-37
  16. The British Nutrition Fondation. The Report of the BNF’s Task Force. London: Chapman and Hall 1994
  17. Wolk A, et al. Journal of the American Medical Association 2006; 296: 1371-6
shop now