ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญ แต่กลับถูกมองข้ามมากที่สุด เราอาจตรวจสุขภาพทั้งร่างกายได้ แต่กว่าจะได้ดูแลสุขภาพตาก็ต่อเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติแสดงออกมา ที่แย่ก็คือโรคทางสายตาบางโรคจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะอยู่ในขั้นรุนแรง ถึงวันนั้น..อาจจะสายไปสำหรับการรักษา อย่างไรก็ตาม 80% ของอาการทางสายตาสามารถป้องกันได้จากโภชนาการและการรักษาที่ถูกต้อง เช่น กินอาหารที่อุดมด้วยสารสกัดจากบิลเบอร์รี สารสกัดจากดอกดาวเรือง สารสกัดจากผลแบล็คเคอร์เรนต์ ผักโขม วิตามินเอ เป็นต้น
พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำร้ายดวงตา
- ใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ เป็นเวลานาน
- อ่านหนังสือหรือใช้สายตาในที่แสงน้อย
- สัมผัสแสงอาทิตย์และแสงยูวีปริมาณมาก
- ขับรถตอนกลางคืน
- สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5 อาการและปัจจัยเสี่ยงทางสายตา
ในขณะที่โลกมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้เราใช้ดวงตามากขึ้น และยังได้รับแสงจากทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ จึงส่งให้คนในยุคปัจจุบันมีอาการและปัจจัยเสี่ยงทางสายตา 5 ประการดังนี้
- Blurred vision ตาพร่ามัว มองภาพได้ไม่ชัดเจน จากงานวิจัยพบว่า ประชากรผู้ใหญ่มากถึง 70% ที่ทำงานกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ จะมีอาการสายตาพร่ามัว ปวดศีรษะ
- Light damage ตาเสื่อมจากการทำลายของแสง ซึ่งมีทั้งแสงสีน้ำเงินจากรังสียูวีและแสงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ผู้ที่อยู่กลางแสงแดดเป็นเวลานาน โดยไม่มีเครื่องป้องกัน และผู้ที่ใช้สายตาอยู่กับจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการตาเสื่อม จากงานวิจัยพบว่า ปัจจุบันเราใช้ใช้สายตากับหน้าจอเป็นเวลาถึง 2 ชั่วโมงต่อวัน ผลที่ตามมา คือ เลนส์ตาและมาคูลาจะมีปัญหา ส่งผลระยะยาวให้เกิดเป็นต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อม
- Eye strained ตาล้าอันเกิดจากการที่ดวงตาทำงานหนัก หรือสัมผัสกับแสงสว่างเป็นเวลานานจากการทำงานกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงภาวะเครียดของดวงตา
- Night blindness ตาบอดกลางคืน หรือปรับสายตาในที่มืดนานกว่าปกติ ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดวิตามินเอหรือแคโรทีนอยด์
- Dryness อาการตาแห้ง ขาดน้ำตาหล่อเลี้ยงดวงตา เป็นปัญหาที่พบมากจากการทำงานกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ใหญ่ในประเทศมีปัญหาตาแห้งมากถึง 4.88 ล้านคน ข้อมูลในประเทศไทยก็อยู่ในระดับสัดส่วนเดียวกัน
สารอาหารเพื่อสุขภาพดวงตา
องค์การอนามัยโลก พบว่า 80% โรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตาและการมองเห็น ป้องกันได้ด้วยโภชนาการและการรักษาที่ถูกต้อง เราจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตาดังนี้
สารสกัดจากบิลเบอร์รี
มีไฟโตนิวเทรียนท์จำนวนมาก แต่สารสำคัญที่มีประโยชน์คือ กลุ่มแอนโธไซยาโนไซด์ (Anthocyanosides)
- เพิ่มสมรรถภาพการมองเห็นในที่มืด
- ช่วยลดระยะเวลาในการปรับแสงจากสว่างไปสู่ที่มืดหรือที่มีแสงสลัวได้เร็วขึ้น
- เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ภายในจอประสาทตา ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
- ลดความเสี่ยงของการตาบอด สำหรับผู้ที่ต้องเผชิญกับแสงสว่างจ้ามากๆ หรือแสงแฟลช ซึ่งสามารถทำลายจอประสาทตาจนอาจทำให้ตาบอดได้
- ปกป้องโครงสร้างของผนังหลอดเลือดฝอย ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็งแรงขึ้น ส่งผลดีต่อเนื้อเยื่อที่มีเส้นเลือดฝอยหล่อเลี้ยงจำนวนมาก เช่น จอประสาทตา
- แสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันต้อกระจก
สารสกัดจากดอกดาวเรือง
ให้สารสำคัญคือ ลูทีน (Lutein) ลูทีนมักพบร่วมกับซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งเป็นไอโซเมอร์ของลูทีน
- ช่วยให้มองภาพได้คมชัดและเห็นรายละเอียดของภาพดีขึ้น
- ป้องกันปัญหาจากแสงยูวีในแสงแดด ชะลอการเกิดต้อกระจกซึ่งเป็นภาวะเลนส์ตาขุ่นมัวอันเนื่องจากความเสื่อมของเลนส์ตา
- เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องดวงตาโดยการดูดซึมแสงสีน้ำเงินและแสงสีเหนือม่วงหรืออุลตร้าไวโอเล็ตจากรังสีดวงอาทิตย์ที่เป็นอันตรายต่อดวงตามนุษย์
- ปกป้องดวงตาจากปัจจัยที่อาจทำลายจอประสาทตา เช่น การสูบบุหรี่ มลพิษ และความเครียด เป็นต้น
- งานวิจัยทางคลินิกของ Bone และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยนานาชาติฟลอริด้า (Florida International University) ตีพิมพ์ใน Journal of Nutrition ปี 2003 ในชายและหญิงจำนวน 21 คน แสดงให้เห็นถึงการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ประกอบด้วยลูทีนขนาด 2.4 – 30 มก./วัน เป็นเวลา 6 เดือน สามารถเพิ่มระดับลูทีนทั้งภายในเลือดและบริเวณจุดรับภาพของจอประสาทตาได้เฉลี่ย 128% และ 10% ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญ
สารสกัดจากผลแบล็คเคอร์เรนต์
อุดมด้วยไฟโตนิวเทรียนท์หลายชนิด โดยหลายตัวในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ
ได้แก่ วิตามินซี แอนโธไซยานิน (Anthocyanins) แอนโธไซยาโนไซด์ (Anthocyanosides) โปรแอนโธไซยานิดิน (Proanthocyanidins) นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มโพลีแซคคาไรด์อีกด้วย
- สารแอนโธไซยาโนไซด์ช่วยป้องกันปัญหาตาบอดในเวลากลางคืนได้ดี
- ช่วยเสริมประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอยของดวงตา
- สารกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ เช่น แคสซิส โพลีแซคคาไรด์ หรือ CAPS (Cassis Polysaccharide) มีรายงานว่าสารกลุ่มนี้ช่วยป้องกันปัญหาบางอย่างของดวงตาได้ เช่น รายงานของ Dejima และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร Biosci Biotechnol Biochem ปี 2007 พบว่า ผู้ที่มีปัญหา Japanese Cedar Pollinosis อันเกิดจากการแพ้เกสรของต้นสนญี่ปุ่น มีอาการคันที่ดวงตาและน้ำตาไหลบ่อย เมื่อเสริมสารสกัดแบล็คเคอร์เรนต์พบว่าสามารถช่วยลดอาการดังกล่าวได้
สปิแนช
อุดมด้วยไฟโตนิวเทรียนท์หลายชนิด เช่น โคลีน (Choline) อิโนซิทอล (Inositol) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) หลายกลุ่ม เช่น ลูทีน เป็นแหล่งสำคัญของวิตามินเอและวิตามินซี
สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในสปิแนชช่วยป้องกันปัญหาอนุมูลอิสระที่ก่อปัญหาในดวงตา การศึกษาของ Kopsell และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร J Agric Food Chem ปี 2006 พบว่า เมื่ออาสาสมัครจำนวน 10 คนบริโภคสารสกัดจากสปิแนช 50 กรัม นาน 12 สัปดาห์ ระดับลูทีนในเลือดเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อดวงตา
อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินเอหรือสารสังเคราะห์วิตามินเอ
- ป้องกันอาการตาบอดในเวลากลางคืน
- ป้องกันการตาบอดจากการขาดวิตามินเอ
- เป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อของดวงตาช่วยการคงรูปของดวงตา
- การขาดวิตามินเอจึงส่งผลเสียต่อการทำหน้าที่ของดวงตาอย่างรุนแรง