โดย ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ MD, FRCOG (T)

WOMAN says YES 

Y = Younger skin ผิวอ่อนเยาว์

E = Emotional balance อารมณ์เบิกบาน

S = Soothing menopause วัยทองสดใส

ผู้หญิงทุกคนต่างใฝ่ฝันจะมีสุขภาพที่ดีในทุกช่วงวัยของชีวิต สิ่งสำคัญคือ การเตรียมตัวเข้าสู่วัยต่างๆ จะช่วยให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น แต่ละช่วงวัยผู้หญิงต้องเผชิญกับสภาวะต่างๆ ในร่างกายที่แตกต่างกันไปมากกว่าผู้ชาย ปัจจัยสำคัญก็คือการมีรอบเดือน การตั้งครรภ์และคลอดบุตรนั่นเองที่ทำให้ร่างกายของผู้หญิงมีความซับซ้อนมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจึงต้องการการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ การเสริมสารอาหารที่จะช่วยสร้างสมดุลให้ร่างกายเป็นทางเลือกหนึ่ง เช่น น้ำมันอีฟนิงพริมโรส น้ำมันโบราจ ตังกุย ขิง ไบโอฟลาโวนอยด์ และเบต้า-แคโรทีน

จากวัยเด็กสู่วัยเจริญพันธุ์

ในช่วงที่ผู้หญิงมีรอบเดือนนั้น ปริมาณฮอร์โมนเพศหญิงจะไม่สมดุลอยู่ตลอดเวลา ผลที่เกิดขึ้นคือทำให้เกิดกลุ่มอาการก่อนมีรอบเดือนที่เรียกว่า PMS (Premenstrual Syndrome) ซึ่งทำให้ผู้หญิงจำนวนมากทนทุกข์ทรมานกับอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง การทำงานมีประสิทธิภาพต่ำ กระทบกับสัมพันธภาพกับคนใกล้ชิด

กลุ่มอาการ PMS ได้แก่

  • ปวดศีรษะอย่างแรง หรือปวดท้องน้อย
  • อาหารไม่ย่อย
  • อารมณ์แปรปรวน เครียดโดยไม่มีเหตุผล
  • บางคนอาจซึมเศร้าจนอยากทำร้ายตนเอง หรือมีอาการดุร้ายที่อยากทำร้ายคนรอบข้าง
  • หมดเรี่ยวแรง
  • ร้อนหนาวมากกว่าปกติ นอนไม่หลับ

ย่างเข้าสู่วัยทอง

วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิงจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ยอายุ 50 ปี เมื่อถึงวัยนี้ รังไข่จะหยุดทำงานและไม่มีการตกไข่อีกต่อไป ทำให้ไม่มีประจำเดือนและไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจากรังไข่ ส่งผลให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจต่างๆ ตามมา

อาการของวัยทอง

  • ประจำเดือนมาน้อยลงและไม่สม่ำเสมอ
  • ร้อนวูบวาบตามร่างกาย
  • เหนื่อยง่าย
  • ใจสั่น มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน
  • ผิวหนังบางลง ผิวแห้ง เกิดแผลได้ง่าย มีอาการคันหรือเป็นผื่นแพ้ตามผิวหนัง
  • ผิวคล้ำหมอง ผิวไม่ยืดหยุ่น มีริ้วรอยง่าย เพราะปริมาณคอลลาเจนและอิลาสตินลดลง
  • เส้นผมหยาบแห้งและบางลง หลุดร่วงง่าย ไม่ดกดำเป็นเงางาม
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือปวดตามข้อและกระดูก
  • มีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เร็ว เครียดง่าย หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ โกรธง่าย ใจน้อย ควบคุมอารมณ์ได้ยาก บางคนหลงลืมง่าย เวียนศีรษะ ซึมเศร้า
  • นอนหลับยากหรือนอนไม่หลับ
  • ช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น น้ำหล่อลื่นน้อยลง เกิดความเจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์
  • ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้
  • กระดูกบางและเปราะง่าย เวลาหกล้มกระดูกจะหักได้ง่ายขึ้น

6 สารอาหารจำเป็น เพื่อ WOMAN says YES

1. น้ำมันอีฟนิงพริมโรส หรืออีพีโอ

เป็นน้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ดดอกอีฟนิงพริมโรส มีสารสำคัญคือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในกลุ่มโอเมก้า-6 ที่ชื่อว่า แกมมาไลโนเลนิกแอซิด ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นหรือกึ่งจำเป็นชนิดหนึ่งซึ่งร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างขึ้นได้เอง และไม่พบในพืชทั่วไป

น้ำมันอีฟนิงพริมโรสช่วยบรรเทาอาการก่อนมีรอบเดือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกินวันละ 1,000 มิลลิกรัม สามารถแบ่งเป็นครั้งละ 500 มิลลิกรัม เช้า-เย็นหลังอาหาร หรือจะกินครั้งเดียว 1,000 มิลลิกรัมหลังอาหารตอนเช้าก็ได้ เพื่อให้ได้ผลดีในการลดอาการก่อนมีรอบเดือน ต้องกินอย่างน้อย 10 วันก่อนที่จะมีรอบเดือน และกินติดต่อกันไปจนเลือดประจำเดือนหยุด อย่างไรก็ตาม ขนาดของน้ำมันอีฟนิงพริมโรสที่ใช้ในผู้หญิงแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามน้ำหนักตัวและการดูดซึมที่ต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม

นอกจากน้ำมันอีฟนิงพริมโรสแล้ว เกลือแร่และวิตามิน เช่น ไบโอฟลาโวนอยด์ น้ำมันโบราจ ขิง เบต้า-แคโรทีน และสารจำพวกไฟโตเอสโตรเจน เช่น ตังกุย ก็ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ของน้ำมันอีฟนิงพริมโรสได้

น้ำมันอีฟนิงพริมโรสช่วยลดอาการวัยทอง

“วัยทอง” เริ่มตั้งแต่ประมาณ 5 ปีก่อนที่รอบเดือนจะหยุดและกว่าอาการต่างๆ จะดีขึ้นก็หลังจากรอบเดือนหยุดไปแล้วประมาณ 5 ปี อาการที่เกิดขึ้นคล้ายกับอาการก่อนมีรอบเดือนของผู้หญิง แต่แทนที่จะเกิดเดือนละครั้งในช่วงเวลาใกล้รอบเดือน อาการวัยทองสามารถเกิดได้ทุกวัน อาจเกิดวันละหลายครั้งต่างเวลา ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และเกิดปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ น้ำมันอีฟนิงพริมโรสจึงมีส่วนช่วยลดอาการในวัยทองอันเกิดขึ้นจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิงด้วยกลไกการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับการลดอาการก่อนมีรอบเดือน เพียงแต่การใช้น้ำมันอีฟนิงพริมโรสเพื่อลดอาการของวัยทองนั้นจะต้องรับประทานต่อเนื่องทุกวันในขนาดเดียวกันกับการใช้เพื่อระงับอาการก่อนมีรอบเดือน

คุณประโยชน์ของน้ำมันอีฟนิงพริมโรส

  • ลดอาการปวดท้องและอาการปวดเต้านมในช่วงมีรอบเดือน
  • ลดอาการก่อนมีรอบเดือน
  • บรรเทาอาการอักเสบและปวดข้อ
  • ลดโคเลสเตอรอลในเลือด
  • บรรเทาอาการผิวหนังแห้งคันและอักเสบ
  • ลดอาการวัยทอง
  • เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง
  • ช่วยเคลือบเส้นผมให้เงางาม ไม่แห้ง เปราะและแตกปลาย
  • ลดอาการเล็บแตกเปราะและหักง่าย

2. น้ำมันโบราจ

น้ำมันโบราจสกัดมาจากเมล็ดโบราจ เป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวในกลุ่มของโอเมก้า-6 ที่ชื่อว่า แกมมาไลโนเลนิกแอซิด ที่จำเป็นสำหรับมนุษย์เพราะร่างกายของมนุษย์เราไม่สามารถสร้างเองได้

คุณประโยชน์ของน้ำมันโบราจ

  • ช่วยลดอาการต่างๆ ก่อนมีรอบเดือนและอาการวัยทอง
  • ลดอาการผิวแห้ง ระคายเคือง
  • ลดปัญหาผิวหนังอักเสบ
  • ลดปัญหาเล็บเปราะ

3. ตังกุย

สารที่สกัดได้จากตังกุยเรียกว่า “ไฟโตเอสโตรเจน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากพืช มีโครงสร้างเหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจนธรรมชาติ จึงนิยมนำมาบำรุงสุขภาพสตรี นอกจากนี้ยังมีวิตามินเอ วิตามินบี 12 กรดอะมิโน 17 ชนิด และเกลือแร่มากกว่า 20 ชนิด ทำให้ช่วยการไหลเวียนของเลือดและเสริมสร้างเม็ดเลือดแดงที่มีผลต่อสุขภาพผิว ทำให้ผิวหนังเต่งตึง ยืดหยุ่นได้ดี

คุณประโยชน์ของตังกุย

  • ช่วยให้รอบเดือนมาปกติ ลดอาการก่อนมีรอบเดือน และลดอาการปวดประจำเดือน
  • ลดอาการวัยทอง
  • ช่วยการไหลเวียนของเลือดและเสริมสร้างเม็ดเลือดแดงที่มีผลต่อสุขภาพผิว
  • ช่วยให้ผิวหนังเต่งตึง ยืดหยุ่นได้ดี

4. ขิง

อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีความสำคัญมากต่อระบบของร่างกาย ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 3 วิตามินซี เบต้า-แคโรทีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส นอกจากนี้ยังมีโปรตีนและเส้นใยต่างๆ จึงจัดได้ว่าเป็นยาอายุวัฒนะชั้นยอดที่มีสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายจำนวนมาก

คุณประโยชน์ของขิง

  • ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น
  • ลดอาการปวดศีรษะไมเกรน
  • ช่วยลดอาการก่อนมีรอบเดือนและอาการวัยทอง
  • ช่วยผ่อนคลาย ทำให้นอนหลับสบาย
  • ช่วยเจริญอาหาร และทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี
  • ช่วยเสริมการออกฤทธิ์ของน้ำมันอีฟนิงพริมโรสและน้ำมันโบราจ

5. ไบโอฟลาโวนอยด์

ไบโอฟลาโวนอยด์เป็นสารประกอบของวิตามินซีที่อยู่ในรูปของสารธรรมชาติ และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง พบมากในกากใยสีขาวของผลไม้รสเปรี้ยวทั้งหลาย เช่น ส้ม มะนาว เกรปฟรุ้ต เชอร์รี่ แบล็คเบอร์รี เป็นต้น

คุณประโยชน์ของไบโอฟลาโวนอยด์

  • ช่วยการดูดซึมและเสริมฤทธิ์วิตามินซี
  • ช่วยรักษาอาการเปราะและแตกง่ายของเส้นเลือด
  • เพิ่มความยืดหยุ่นของผนังเส้นเลือด
  • ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน

6. เบต้า-แคโรทีน

เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายรวมทั้งส่งเสริมสุขภาพโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีจึงมีประโยชน์ต่อผิวพรรณ พบมากในสารอาหารที่ได้จากผักและผลไม้ที่มีสีส้ม เหลือง และแดง เช่น แครอท ฟักทอง แตงโม แคนตาลูป มะละกอสุก ข้าวโพด เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบในผักสีเขียวเช่น บร็อคโคลี มะระ ผักบุ้ง ผักตำลึง และคะน้า

คุณประโยชน์ของเบต้า-แคโรทีน

  • ช่วยให้ผิวหนังมีสุขภาพดี
  • ลดริ้วรอยความเหี่ยวย่น
  • ช่วยในการมองเห็นในที่มืดได้ดี
  • ลดความเสื่อมของกระจกตารวมทั้งเซลล์เนื้อเยื่ออื่นๆ ของลูกตา
ข้อมูลอ้างอิง
  1. Cleckner-Smith CS, Doughty AS et al .Premenstrual syndrome:  Prevalence  and severity in adolescent sample. J Adolesc Health.1998:22(5):403-8.
  2. Tschudin S, Bertea PC, Zemp E. Prevalence and predictors of premenstrual syndrome and premenstrual dysphoric disorder in a population based sample. Arch Women Ment Health 2010;13:485-94.
  3. Clayton AH, Keller AE,et al. Exploratory study of premenstrual symptoms and serotonin variability Arch Womens Ment Health 2006;9(1):51-7.
  4. Lustyk M, Widman L et al. Stress, quality of life and physical activity in women with varying degrees of premenstrual symptomatology. Women Health.2004;39(3):35-44.
  5. Smith MJ, Adams LF et al. Abnormal luteal phase excitability of the motor cortex in women with premenstrual syndrome. Biol Psychiatry.2003;54(7):757-62.
  6. Young EA,Korszun A . The hypothalamic-pituitary-gonadal axis in mood disorders. Endocrinol Metab Clin North Am.2002;31(1):63-78.
  7. Fenske,et al. Structural and functional changes of normal aging skin. J Am Acad Dermatol.1986:571-85.
  8. Phillips T et al. Hormonal effects on skin aging.2001;661-672.
  9. Watt PJ , Hughes RB et al. A holistic programmatic approach to natural hormone replacement. Fam Community Health.2003;25(1) 53-63.
  10. Tulandi T, Lai S. Menopausal hot flush. Obstet Gynecol Surv 1985;40:24-6.
  11. Studd J, Whitehead ML,Notelovitz M. The non- hormonal management of the menopause. In Studd J, Whitehead Ml eds The Menopause . Oxford Blackwell Scientific,1988:102-15.
  12. Khoo SK, Munro C,Batisstuta D. Evening primrose oil and treatment of premenstrual syndrome. Med JAust 1990;153940:189-92.
  13. Kleijnen J. Evening primrose oil . BMJ 1994;309:824-13.
  14. Bayles B, Usatine R. Evening primrose oil. Am Fam Physician 2009;80(12) :1405-8
  15. Horrobin DF. The role of essential fatty acids and prostaglandins in the premenstrual syndrome. J Reprod Med 1983;28(7):465-8..
  16. Chenoy R, Hussain S, Tayob Yet al. Effect of oral gammalinoleic acid from evening primrose oil on menopausal flushing.BMJ 1994;308:501-9.
  17. Karrila MC, Mattila L, Jansen CT, Uotila P. Evening primrose oil in the treatment of atopic eczema: effect on clinical status, plasma phospholipid fatty acids and circulating blood prostaglandins . BJD 1987;117(1):11-9.
  18. ธัญวัลย์ มุกดาศิริวณิช. น้ำมันโบราจ ประโยชน์ที่คุณควรรู้ใ บทความเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียง โดยสำนักงานวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา 2554
  19. โสรัจ นิโรธสมาบัติ ตังกุย สุดยอดสมุนไพรบำรุงเลือด เอกสาร จากคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
  20. Hirata JD, Sweiersz LM, Zell B, et al. Does Dong quai have estrogenic effects in postmenopausal women? A double-blind, placebo control trial. Fertil Steril 1997;68(6):981-6.
  21. ประโยชน์ของขิง http:// frynn.com%EO%B8%82%EO%B8%B4%EO%B8%87/.
  22. ไบโอฟลาโวนอยด์ บทความสุขภาพน่ารู้ iGetWeb.com  http://www.viva-aragon.com/index.phb?mo=3&art=419111756.
  23. เบต้าแคโรทีนคืออะไร วารสารสุขสาระ ฉบับที่ 58 http://campus.sanook.com/921488.
shop now